วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กิจกรรมที่ 8

วัฒนธรรมองค์การ คือ เป็นปรากฎการณ์ทางสังคมของกลุ่มคน มิใช่ค่านิยม ความเชื่อ และ / หรือ ความเข้าใจของ คนๆ เดียว ปรากฎการณ์ทางสังคมของกลุ่มคนดังกล่าวอาจเป็นค่านิยม ความเชื่อ และ / หรือ ความเข้าใจของกลุ่มพนักงานที่อยู่ในฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต หรืออาจเป็นปรากฎการณ์ทางสังคมของคนส่วนใหญ่ในองค์การก็ได้
แนวความคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์การ วัฒนธรรมมิใช่เป็นเพียงปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมโดยทั่วไปเท่านั้นแต่ยังเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในหน่วยงานต่างๆด้วยสังคมอาศัยวัฒนธรรมเพื่อช่วยในการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาพื้นฐานบางประการของกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันเพื่อความอยู่รอดของสมาชิก เช่น สังคมอาศัยวัฒนธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองและกระบวนการยุติธรรมมาช่วยแก้ปัญหาการเมืองและความขัดแย้งในสังคม
การพัฒนาวัฒนธรรมองค์การ จะต้องเห็นคุณค่าหรือค่านิยม(value)ร่วมกัน ยึดถือแน่นแฟ้นในการติดต่อสัมพันธ์ภายในเพื่อให้เกิดการปฏิบัติงานร่วมกันบรรลุผลสำเร็จตามที่องค์การคาดหวังไว้การพัฒนาองค์การ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาวัฒนธรรมองค์การที่เหมาะสม และเกื้อหนุนต่อการเปลี่ยนแปลง (changes) ที่จำเป็น
กลยุทธ์การสร้างวัฒนธรรมองค์กร     เป็นระบบที่สมาชิกมีความเข้าใจและยอมรับร่วมกันถึงสิ่งที่ควรประพฤติปฏิบัติในองค์การถึงแม้ไม่มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม ผู้นำที่มีความมุ่งมั่นสูงในการสร้างวัฒนธรรมองค์การจะได้รับการสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและได้รับการดูแลให้เจริญเติบโตอย่างมั่นคงแต่ถ้าผู้นำมีความมุ่งมั่นต่ำในการสร้างวัฒนธรรมองค์การและวัฒนธรรมที่ต้องการสร้างขาดความชัดเจน (type 4) จะส่งผลให้การสร้างวัฒนธรรมองค์การเป็นไปอย่างไร้ทิศทางซึ่งจะสร้างความสับสนให้กับคนในองค์การ  
การประยุกต์ใช้วัฒนธรรมองค์การ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในกรณีศึกษาของประเทศไทย เช่น สาขาของธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศไทยผู้จัดการพยายามพัฒนาพนักงานให้มีความ สนใจลูกค้ามากขึ้น ประยุกต์ใช้วัฒนธรรมองค์การในการควบคุมแบบไม่เป็นทางการนั้น พบว่าบุคคลที่มีทัศนคติไม่ดีต่อลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งมีรอยยิ้มน้อยที่สุดหรือยิ้มยากที่สุดต้องเริ่มฝืนยิ้ม เพราะเป็นบุคคลเดียวที่ไม่มีดอกไม้บนโต๊ะ ที่จำต้องยิ้มเพราะวันหนึ่งมีลูกค้าถามว่า "พี่ครับ ทำไมโต๊ะพี่ถึงไม่มีดอกกุหลาบล่ะครับ ผมเห็นทุกคนมีดอกไม้เหมือนกันหมดเลย" ซึ่งก็คงเป็นการยากที่จะตอบลูกค้าว่าก็เพราะฉันยิ้มกับลูกค้าไม่เป็นไงล่ะ ตัวอย่างนี้เป็นตัวอย่างของลูกศิษย์ที่ผ่านการอบรมศึกษาในเรื่องนี้แล้วได้ นำไปประยุกต์ใช้ โดยกลับมาเล่าให้ฟัง ซึ่งผู้เขียนต้องขอบคุณในเทคนิควิธีที่ผู้บริหารผู้นั้นนำไปใช้อย่างชาญฉลาด ในเชิงประยุกต์เป็นผลทำให้สาขาของธนาคารนั้นมีแต่รอยยิ้มเสมอมา

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กิจกรรมที่ 7

วิธีการจัดชั้นเรียนแบบมืออาชีพ

       ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าจะจัดตกแต่งทางวัตถุหรือกายภาพให้มีบรรยากาศที่น่าเรียนและเหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละวัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แก่ผู้เรียน  การจัดชั้นเรียนให้มีคุณภาพนั้นต้องจะต้องมีกระบวนการที่ดำเนินอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนแก่ผู้เรียนให้เกิดความสนใจ และตั้งใจเรียนมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถสร้างความกระตือรือร้นให้ผู้เรียนสนใจในสิ่งที่เรียนอยู่  จากนั้นก็จัดชั้นเรียนให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้เรียน และต้องกำหนดระเบียบการต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทรและเป็นการปลูกฝังลักษณะนิสัยให้กับผู้เรียนเพื่อการเป็นพลเมืองที่ดีในอนาคตข้างหน้า
         ดังนั้นการจัดชั้นเรียนถือเป็นเรื่องสำคัญ   โดยการจัดชั้นเรียนให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนเพื่อช่วยสร้างบรรยากาศในการเรียนที่น่าสนใจและมีแรงจูงใจให้นักเรียนไม่เบื่อหน่าย  รวมถึงการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของนักเรียน  เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์และบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กิจกรรมที่ 6

      มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการศึกษาเป็นทั้งการสร้าง การพัฒนา รวมทั้งการเสริมให้บุคคลมีคุณภาพ มีศักยภาพ ที่จะเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของชุมชน สังคม และประเทศหากมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาไม่มีมาตรฐาน หรือมาตรฐานต่ำ ก็ย่อมเป็นตัวบ่งชี้ชัดเจนว่า ระบบการศึกษาจะสร้างหรือพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพที่จะมีชีวิตที่ก้าวหน้าและเป็นสุขได้ยากลำบาก ดังนั้นวิชาชีพที่จะมีมาตรฐานได้
นอกจากต้องมีความรู้และทักษะในวิชาชีพแล้วยังต้องมีความรับผิดชอบสูง ซึ่งวิชาชีพต้องประกอบวิชาชีพด้วยวิธีการแห่งปัญญา ได้รับการศึกษาอบรมมายาวนานเพียงพอ มีอิสระในการใช้ชีวิตตามมาตรฐานวิชาชีพ และมีจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งต้องมีสถาบันวิชาชีพหรือองค์กรวิชาชีพที่เป็นแหล่งกลางในการสร้างสรรค์และจรรโลงวิชาชีพด้วย
การนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ
      การนำมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษามาใช้ในการประกอบการเรียนการสอน เพื่อสามารถนำมาปรับและพัฒนา รวมถึงส่งเสริมให้บุคคลและการศึกษามีคุณภาพ ศักยภาพ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้บุคลากรของประเทศเป็นพลเมืองที่มีคุณค่า และมีความคิดสร้างสรรค์

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กิจกรรมที่ 5

ต้นแบบแห่งการเรียนรู้
ดร.บรรเจอดพร  รัตนพันธุ์
คณะทำงานรมช.ศธ.
            จะเห็นว่าในปัจจุบันเราได้ยินคำว่าต้นแบบในวงการศึกษามากมาย ที่ได้ยินบ่อยมาก คือครูต้นแบบต่อมาก็มี โรงเรียนต้นแบบศึกษานิเทศก์ต้นแบบ และ ต่อ ๆ ไปก็จะมี ผู้บริหารต้นแบบ นักเรียนต้นแบบผู้ปกครองต้นแบบ ชุมชนต้นแบบ ภารโรงต้นแบบ ฯลฯ
         มีใครเคยสงสัยไหมว่าต้นแบบคืออะไรทำไมต้องมีครูต้นแบบเกิดประโยชน์อะไรถึงจะต้องคัดเลือกกันด้วยกระบวนการยุ่งยากซับซ้อน ประเมินแล้วประเมินเล่า เสียงบประมาณมากมาย มีหลายหน่วยงานทำเรื่องเดียวกันจนกลายเป็นว่า ต้นแบบของใครจะดีกว่า ?แล้วก็ได้ต้นแบบมาไม่ถึง 5%ของครูทั้งหมด มีการยกย่องเชิดชูเผยแพร่ ออกข่าววิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ แล้วคนที่ไม่ได้เป็นต้นแบบจะได้อะไร รู้สึกรู้สาอะไรกับต้นแบบ
            เป็นโอกาสดีของผู้เขียนได้ไปร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า กับรองศาสตราจารย์ บุญนำทานสัมฤทธิ์ ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพครบ 101 ปี ณ อาคาร 3 คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 มีวิทยากรที่ทรงคุณงามความดีความรู้ ภูมิปัญญาชั้นนำของประเทศหลายท่าน และมีท่านหนึ่งได้พูดเรื่องต้นแบบว่าพระมหากษัตริย์ของเรามีต้นแบบที่ทรงคุณมหาศาลที่หล่อหลอมพระองค์ท่านให้เป็นกษัตริย์ที่สถิตย์ในดวงใจของปวงชนชาวไทยนั่นคือ  “สมเด็จย่าแม้ว่าสมเด็จย่าจะจากพวกเราไป แต่พระองค์ฝากสิ่งที่สำคัญยิ่งไว้ให้ชาวโลกแล้ววิทยากรที่กล่าวถึงคือพระเทพโสภณ (ประยูรธมมจิตโต)อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
            พระคุณเจ้าได้สรุปความสำคัญของคำว่า ต้นแบบว่ามี 2 นัย
            นัยแรกคือต้นแบบในฐานะเป็นแม่แบบเพื่อให้ผู้ดูแบบได้เอาอย่างศึกษาตามพฤติกรรมต้นแบบ แล้วทำตามแบบ เลียนแบบ ต่อมาก็อาจ ประยุกต์แบบ
                      นัยที่สองคือ ต้นแบบในฐานะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการใฝ่รู้ใฝ่เรียนเป็นกำลังใจแก่ผู้ดูแล กระตุ้นให้ผู้ดูแบบสร้างสรรสิ่งดีงามต้นแบบตามนัยนี้อาจไม่ต้องมีการถ่ายทอดจากต้นแบบสู่ผู้ดูแบบ    ไม่ต้องสอนกันตรง ๆเพียงแค่ผู้ดูแบบ....ได้เห็น... ได้รับฟังต่อ ๆ กันมาได้รับรู้ก็เกิดความปลื้มปีติศรัทธาเชื่อมั่น เป็นขวัญกำลังใจ แม้ไม่รู้จักแม้เพียงแค่มองผู้ดูแบบก็ได้อานิสงส์มากมายแค่อยู่ให้เห็นก็เป็นแรงบันดาลใจมหาศาล
            พระคุณเจ้ายังกล่าวถึงการศึกษาด้วยว่าการศึกษาถ้าไม่มีแบบอย่างที่ดีเป็นไปไม่ได้การศึกษาเป็นระบบกัลยาณมิตร เป็นพรหมจรรย์ การมีต้นแบบที่ดีย่อมเป็นกำลังใจครูควรต้องเป็นแบบอย่างที่ดีชี้นำทางสว่างแก่ศิษย์ต้นแบบแห่งการเรียนรู้มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือต้นแบบสอนให้รู้ ต้นแบบทำให้ดู และต้นแบบอยู่ให้เห็นหากครูเป็นต้นแบบที่ดีเป็นกัลยาณมิตรของศิษย์และเพื่อนครู ก็ย่อมจะเกิดผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ เกิดครูดีศิษย์ดีต่อเนื่องขยายวงต่อ ๆ กันไปผู้ที่มีวิญญาณแห่งต้นแบบการเรียนรู้ย่อมจะไปเหน็ดเหนื่อยในการถ่ายทอด
            จุดเริ่มต้นของการเกิดแรงบันดาลใจในชีวิตผู้ดูแบบ คือการ ได้รู้ ได้ดูได้เห็นต้นแบบ เกิดศรัทธาต่อต้นแบบ เกิดแรงบันดาลใจให้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียนเลียนแบบของต้นแบบ หากเราเผยแพร่ตัวแบบที่ไม่เหมาะสมต้นแบบชองการกระทำในอบายมุขต้นแบบของการฉ้อราษฎร์ ต้นแบบของการหยาบคายในกิริยาและวาจา ต้นแบบของการประจบสอพลอฯลฯ สังคมจะดูต้นแบบที่น่าชื่นใจเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างคุณภาพดีแก่เยาวชนแก่ประเทศชาติจากที่ไหน
            จริงอยู่ดังที่ขงจื้อกล่าวไว้ คนดีคนเลว เป็นครูได้ทั้งหมด เพราะเมื่อเห็นคนดี ก็เลียนแบบ เห็นคนเลวก็เลียนแบบแต่อยากถามว่าผู้ที่จะแยกแยะดี / เลว ได้ชัดเจนต้องมีวุฒิภาวะเพียงใดเยาวชนของเราบางคนยังมีวุฒิภาวะไม่ถึงพร้อม โดยเฉพาะถ้าเห็นตัวแบบนั้นเป็นครูเป็นพ่อ แม่ เขายิ่งอาจสับสนว่าเขาควรเลียนแบบอย่างที่เห็น ใช่หรือไม่
            พวกเราชาวครูทั้งหลาย คงทราบแล้วว่าครูต้นแบบ โรงเรียนต้นแบบ ศึกษานิเทศก์ก็ต้นแบบ และต้นแบบอีกสารพัดที่กำลังจะตามมาทรงคุณค่าของการเป็นแบบแก่ครู และสังคมเพียงใด
            ต้นแบบต้องทำงานหนักและเหนื่อยทั้งเพื่อคงรักษาการเป็นต้นแบบอีกทั้งถ่ายทอด ขยายเครือข่ายแก่ผู้ดูแบบ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการแต่ท่านเหล่านั้นคงไม่เหน็ดเหนื่อยต่อการสอนการเผยแพร่เพราะ.......ท่านมีวิญญาณแห่งต้นแบบพวกเรามาร่วมเป็นกำลังใจให้ต้นแบบกันเถอะค่ะ ไม่ว่าท่านจะเป็นต้นแบบจากองค์กรไหนท่านก็เป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้พบเห็นได้เสมอ ทั้งที่ท่านรู้ตัวและไม่รู้ตัวท่านได้ทำบุญอันยิ่งใหญ่นัก
            สำหรับบางท่าน.......แม้ไม่มีองค์กรใดมารับรองว่าท่านเป็นต้นแบบแม้ท่านส่งผลงานเข้ารับเลือกเป็นต้นแบบแล้ว......ท่าน ไม่ได้รับเลือก  แต่ท่านอาจเป็นแรงบันดาลใจ
             เป็นต้นแบบของดวงตาคู่น้อย ๆที่จับจ้องดูทุกกิริยาของท่าน และ
            ท่านเป็นต้นแบบตั้งแต่มีเสียงเรียกท่านว่า คุณครู
แหล่งที่มา :   ดร.บรรเจอดพร รัตนพันธุ์

กิจกรรมที่ 4

ภาวะผู้นำ และการเปลี่ยนแปลง
ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด
ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม
การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เราทุกคนคงยอมรับว่าไม่มียุคสมัยใดที่การเปลี่ยนแปลงจะรวดเร็วและมีผลกระทบรุนแรงเท่าในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงได้สร้างหายนะให้กับองค์กรหลายแห่งไม่เว้นแม้กระทั้งองค์กรที่เคยประสบความสำเร็จมาในอดีต ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงก็ได้สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับหลายองค์กรเช่นกัน ประเด็นเรื่องการอยู่รอดและการเปลี่ยนแปลงเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยตรง ดังคำกล่าวของ ชาร์ล ดาร์วิน ที่ว่า "ผู้ที่อยู่รอด มิใช่เป็นสายพันธ์ (Species) ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด หากแต่ว่าเป็นผู้ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดต่างหาก"
การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ หากจะมองในระดับบุคคลแล้ว คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดจะสำคัญและยิ่งใหญ่ไปกว่าการปรับเปลี่ยนมุมมอง (ทิฏฐิ) และทัศนคติ (Attitude) การรู้จักเปิดใจกว้าง ไม่ยึดติดอยู่กับความคิด หรือความรู้เดิมๆ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เป็นการเริ่มต้นสู่การเปิดรับสิ่งใหม่ด้วยใจที่ไม่อคติ (Bias) ประเด็นคำถามที่ตามมาก็คือ
ทำอย่างไรเราจึงจะเห็นและเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เป็นหรือเกิดขึ้นจริง มิใช่เป็นการเห็นหรือเข้าใจตามที่เราต้องการจะเห็นหรือให้มันเป็น
ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถใช้ทั้งความรู้และความรู้สึกควบคู่กันไปอย่างได้สมดุล
ทำอย่างไรเราจึงจะไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบจนอาจลืมสาระและวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของสิ่งนั้นๆไป
ทำอย่างไรเราจึงจะเห็นความจำเป็นของระบบ ของมาตรฐานโดยที่ไม่มองข้ามความงดงามอันเนื่องมาจากความหลากหลาย (Diversity)
เราจะต้องปรับเปลี่ยนองค์กรอย่างไร เพื่อให้ได้มาซึ่งโครงสร้างองค์กรที่แบนราบ (Flat) ไม่สลับซับซ้อนไม่มีลำดับชั้นมากมาย เป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่น (Flexible) เป็นการบริหารงานโดยผ่านกระบวนการ (Process) อาศัยการทำงานแบบร่วมกันเป็นทีม แทนการบริหารงานแบบดั้งเดิมที่เน้นการดำเนินงานตามสายงาน (Function) เป็นหลัก ทำอย่างไรผู้บริหารถึงจะเข้าใจว่าระบบขององค์กรโดยแท้จริงแล้วเป็นระบบที่มีชีวิต เป็นระบบที่เปิด (Open System) ที่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา เป็นระบบที่จริงๆแล้วไม่อาจเขียนแทนได้ด้วยผังการไหลของงาน (Flowchart) หรือถ่ายทอดทุกอย่างผ่านคู่มือการดำเนินงาน (Procedure) หากแต่ว่าเป็นระบบที่ประกอบด้วยชีวิต จิตวิญญาณ ความรู้สึก ความสัมพันธ์ระหว่างกัน ที่มิอาจถ่ายทอดออกเป็นตัวหนังสือ หรือเขียนออกมาอยู่ในรูปแบบของเอกสารได้ทั้งหมด
                    การสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องดังกล่าวคงจะไม่ใช่เรื่องที่ง่าย หากเรายังใช้แต่หลักทางด้านการจัดการ (Management) อยู่ เพราะการจัดการนั้นจริงๆแล้วใช้ได้ผลดีเฉพาะกับสิ่งที่เป็นสิ่งของ (Things) เท่านั้น แต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคน ตัวอย่างเช่น เวลาเราพูดถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร ก็เป็นเรื่องของคน การปรับเปลี่ยนระบบก็เกี่ยวกับคน การนำเทคโนโลยีมาใช้ก็เกี่ยวกับคนเช่นกัน ซึ่งเรื่องของคนนั้นหากจะให้ได้ผลแล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า ภาวะผู้นำ (Leadership) มากกว่าที่จะใช้การจัดการ ภาวะผู้นำหรือความสามารถในการนำนี้ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงสำเร็จ หลายคนบอกว่าการนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนั้นควรจะต้องเริ่มต้นด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดและจูงใจก่อนเป็นอันดับแรก เพราะนั่นคือการกำหนดทิศทาง เป็นการวางเป้าหมายสำหรับอนาคต แต่สำหรับผมแล้วผมกลับเห็นว่าการสร้างศรัทธาต่างหากที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การนำนี้สำเร็จ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมพบว่าแม้วิสัยทัศน์ที่สร้างขึ้นมานั้นจะดึงดูดและชวนให้ตื่นตาตื่นใจสักเพียงใดก็ตาม แต่หากคนทั่วไปไม่ยอมรับนับถือหรือศรัทธาในตัวผู้นำแล้ว วิสัยทัศน์ที่วางไว้นั้นก็มักจะไร้ความหมาย ไม่มีน้ำหนัก ปราศจาก Momentum แต่ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้วิสัยทัศน์หรือเป้าหมายที่กำหนดไว้อาจจะดูไม่ดึงดูดใจเท่าที่ควร แต่ถ้าหากคนมีความชอบ ความเชื่อ หรือศรัทธาในตัวผู้นำแล้ว การเปลี่ยนแปลงนั้นๆก็มีโอกาสที่จะสำเร็จได้มากทีเดียว